ชวนเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น จังหวัดสกลนคร

จังหวัดสกลนครชื่อได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นด้านความศรัทธาในพระพุทธศาสนาทำให้มีวัดวาอารามหลายแห่งอันเกี่ยวเนื่องกับครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่หลายท่านด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือพระอาจารย์ฝั้นอาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร ซึ่งท่านได้ปฏิบัติกรรมฐานในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ด้วยคุณงามความดีของพระอาจารย์ฝั้นที่ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและเดินตามรอยทางของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เมื่อท่านได้ละสังขารไปแล้วจึงได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อรวบรวมประวัติและข้าวของเครื่องใช้ของท่านขณะยังดำรงขันธ์ รวมไปถึงคำสอนต่างๆของท่านเพื่อให้ชาวพุทธรุ่นหลังได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน และได้นำคำสอนไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หากแต่ในปัจจุบันนี้พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้นถือได้ว่าเป็นสถานที่ซึ่งนักแสวงบุญให้ความสนใจเมื่อได้ไปเยือนเมืองสกลนคร เพราะต่างก็มีความเคารพศรัทธาปรารถนาไปกราบไหว้ และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อันสวยงามนี้

พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้นตั้งอยู่ที่วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณานิคม อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร   ลักษณะตัวพิพิธภัณฑ์ถูกสร้างเป็นรูปเจดีย์ โดยมีฐานกลมเป็นกลีบบัวสามชั้น  ภายในปรากฎรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้นซึ่งมีขนาดเท่าองค์จริง ในอิริยาบถนั่งห้อยเท้า แล้วถือไม้เท้าไว้ที่มือ ซึ่งเป็นรูปปั้นที่แลดูเสมือนจริงมาก

ภายในปรากฏมีการแสดงเครื่องอัฐบริขารต่างๆที่พระอาจารย์ฝั้นท่านได้เคยใช้มาก่อนขณะยังดำรงขันธ์ และยังได้บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ในตู้กระจกให้ประชาชนได้ทำการกราบสักการะอีกด้วย

นอกจากนี้ยังได้มีการรวบรวม ชีวประวัติของพระอาจารย์ฝั้นตั้งแต่วัยเยาว์ การบวชในร่มกาสาวพัสตร์ จวบจนกระทั่งมรณภาพ  ชีวประวัติโดยย่อของพระอาจารย์ฝั้น  อาจาโร กำเนิดในสกุลสุวรรณรงค์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2442 ที่ตำบลบ้านม่วงไข่ อำเภอพรรณนานิคม  เมื่ออายุได้ 19 ปี ได้บรรพชาที่ วัดโพนทอง อายุ 20 ปีได้อุปสมบทในพุทธศาสนา ในเวลาต่อมาท่านได้ถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต พระอาจารย์ฝั้นได้มรณภาพ ในคืนวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.  2520  เมื่ออายุได้ 78 ปี

สำหรับแรกเริ่มของการสร้างพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้นเนื่องจากหลังที่ได้มีการสรงน้ำศพของพระอาจารย์ฝั้นแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับสั่งว่าทั้งเครื่องอัฐบริขารหรืออัฐิของพระอาจารย์ฝั้นนั้นหากสามารถเก็บไว้ในที่เดียวกันได้ ก็จะเป็นการดี เป็นเหตุให้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมา

นักท่องเที่ยวท่านที่ต้องการเดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และกราบสักการะอัฐิธาตุของพระอาจารย์ฝั้นสามารถใช้ทางหลวงหมายเลข 22 (สกลนคร-อุดรธานี)  มุ่งหน้าไปยังอำเภอพรรณานิคม จากนั้นให้เลี้ยวขวาตรงอำเภอพรรณานิคมไปประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วก็จะพบทางเข้าวัดป่าอุดมสมพร